อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง


อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง

ความเป็นมา
อิเหนา เป็นวรรณคดีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งชาวชวาได้แต่งขึ้นเอเฉลิมพระเกียรติแด่พระมหากษัตริย์ ชวาพระองค์นี้ทรงนำความเจริญให้แก่ชาวชวา ซึ่งพระองค์เป็นทั้งนักรบ นักปกครอง และพระองค์ทรงมี พระราชธิดา ๑ พระองค์ และพระราชโอรส ๒ พระองค์ เมื่อพระราชธิดาของพระองค์ได้ทรงเสด็จออกผนวช จึงได้แบ่งราชอาณาจักรเป็น ๒ ส่วน คือกุเรปัน และ ดาหา
ต่อมาท้าวกุเรปันได้ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง และท้าวดาหาทรงมีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ซึ่งทั้งสองพระองค์มีพระนามว่า อิเหนาและบุษบา เมื่อเจริญพระชันษา อดีตพระราชธิดาของกษัตริย์พระองค์เดิมที่เสด็จออกผนวช จึงมีพระดำริให้อิเหนาและบุษบาอภิเษกกัน เพื่อให้กุเรปันและดาหากลับมารวมกันเป็นราชอาณาจักรเดียวกันดั่งเดิม
เนื่องจากนิทานอิเหนาเป็นเรื่องราวที่ได้รับความนิยมจากชาวชวาเป็นอย่างมาก เนื้อเรื่องจึงปรากฏเป็นหลายสำนวน และเมื่อได้เข้ามาสู่ประเทศไทย มีคำกล่าวสืบเนื่องกันมาว่าพระราชิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกับเจ้าฟ้าสังวาล  คือ  เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎได้ฟังนิทานอิเหนาจากนางกำนัลชาวมลายูที่ได้มาจากเมืองปัตตานี  พระราชธิดาทั้งสองพระองค์จึงมีพระราชธิดาจึงมีพระราชนิพนธ์ขึ้นนิทานเรื่องนี้ขึ้น เจ้าฟ้ากุณฑลทรงนิพนธ์บทละครเรื่องของดาหลัง ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงนิพนธ์เป็นละครเรื่อง  อิเหนา  แต่คนทั่วไปมักเรียกบทพระราชนิพนธ์ของทั้งสองพระองค์นี้ว่า อิเหนาใหญ่ และอิเหนาเล็ก  นิทานปันหยีของไทยจึงมี ๒ สำนวนแต่นั้นมา
สมัยรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร อิเหนา ขึ้น โดยยังคงเค้าโครงเรื่องเดิม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชนิพนธ์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เนื่องจาก เนื้อความเข้ากันไม่สนิทกับบทเมื่อครั้งกรุงเก่าและนำมาเล่นละครได้ไม่เหมิจึงทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ให้สั้นและสอดคล้องกับท่ารำโดยรักษากระบวนการเดิม แล้วพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิทักษ์มนตรีซึ่งเชี่ยวชาญในการละคร ได้นำไปประกอบท่ารำและฝึกซ้อมจนเห็นสมควรว่าดี แล้วจึงรำถวายให้ทอดพระเนตรเพื่อให้มีพระบรมราชวินิจฉัยอีครั้งเป็นอันเสร็จ

ลักษณะคำประพันธ์
                บทละครรำ เรื่อง อิเหนา มีรูปแบบการแต่งกลอนบทละครซึ่งมีลักษณะบังคับเหมือนกลอนสี่สุภาพ แต่ละวรรคมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า เมื่อนั้น” “บัดนั้น” และ มาจะกล่าวบทไปโดยคำว่าเมื่อนั้น ใช้กับตัวเอกของเรื่องหรือตัวละครที่เป็นกษัตริย์ และคำว่า บัดนั้นใช้กับตัวละครสามัญ และคำว่า ”มาจะกล่าวบทไป” ใช้เมื่อขึ้นตอนหรือเนื้อความใหม่
                สำหรับจำนวนคำในแต่ละวรรค อาจมีไม่เท่ากันเพราะต้องให้เหมาะสมกับท่ารำและทำนองเพลง นอกจากนี้ยังต้องมีการกำหนดเพลงหน้าพาทย์สำหรับประกอบกิริยาอาการตัวละคร
แผนผังและตัวอย่างบทละคร
              บัดนั้น                                                   ดะหมังผู้มียศถา
                                            นับนิ้วบังคมคัลวันทา                                       ทูลถวายสาราพระภูมี
                     เมื่อนั้น                                                  ระตูหมันหยาเรืองศรี
            รับสารมาจากเสนี                                             แล้วคลี่ออกอ่านทันใด

เนื้อเรื่องย่อ
ในชวาสมัยโบราณ มีกษัตริย์ปกครองเมืองใหญ่เมืองน้อย กษัตริย์วงศ์เทวาซึ่งถือว่าเป็นชาติตระกูลสูงสุด ด้วยสืบเชื้อสายมาจากเทวดา ใช้คำนำหน้าพระนามว่า ระเด่น ส่วนกษัตริย์นอกวงศ์นั้น ใช้คำว่า ระตู เริ่มต้นบทละครเรื่องนี้ กล่าวถึงกษัตริย์วงศ์ องค์ ต่างเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา ทรงพระนามว่าท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา ท้าวกาหลัง ท้าวสิงหัดส่าหรี ครองเมือง เมือง ซึ่งมีชื่อเช่นเดียวกับพระนามกษัตริย์ ทุกพระองค์ต่างก็มีมเหสี องค์ ตามประเพณี เรียงลำดับศักดิ์ คือ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู และเหมาหลาหงี ประไหมสุหรีของท้าวกุเรปันและท้าวดาหานั้น เป็นธิดาของกษัตริย์หมันหยาเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่ง จึงทำให้เมืองหมันหยามีความเกี่ยวดองกับกษัตริย์วงศ์เทวามากขึ้น ท้าวกุเรปันมีโอรสกับลิกูองค์หนึ่งทรงพระนามว่า กระหรัดตะปาตี ซึ่งได้หมั้นไว้กับบุษบารากา ธิดาของท้าวกาหลังซึ่งเกิดจากลิกู ต่อมาพระองค์ปรารถนาจะให้ประไหมสุหรีมีโอรสบ้าง จึงได้ทำพิธีบวงสรวง ก่อนประไหมสุหรีทรงครรภ์ก็ได้สุบินว่าพระอาทิตย์ทรงกลดลอยมาตกตรงหน้า และนางรับไว้ได้ เมือประสูติก็เกิดอัศจรรย์ต่าง ๆ เป็นนิมิตดี องค์ปะตาระกาหลาซึ่งเป็นเทวดาต้นวงศ์บนสวรรค์ เหาะนำกริชมาประทานให้ พร้อมทั้งจารึกนามโอรสด้วยว่า อิเหนา ต่อมาประไหมสุหรีได้ธิดาอีกหนึ่งองค์ พระนามว่า วิยะดา ฝ่ายท้าวดาหา ประไหมสุหรีก็ประสูติธิดา ได้พระนามว่า บุษบา ขณะประสูติก็เกิดอัศจรรย์ก็มี กลิ่นหอมตลบทั่วเมือง หลังจากประสูติบุษบาแล้ว ประไหมสุหรีก็ประสูติโอรสอีก พระนามสียะตรา ท้าวกาหลังมีธิดา พระนามสะการะหนึ่งหรัด ท้าวสิงหัดส่าหรีมีโอรส พระนามสุหรานากง และธิดาพระนาม จินดาส่าหรี กษัตริย์ในวงศ์เทวาจึงได้จัดให้มีการตุนาหงันกันขึ้น ระหว่างโอรสและธิดาในวงศ์เดียวกันโดยให้ อิเหนาหมั้นไว้กับบุษบา กระหรัดตะปาตีกับบุษบารากา สียะตรากับวิยะดา สุหรานากงกับสะการะหนึ่งหรัด แต่ก่อนจะมีการแต่งงาน ความยุ่งยากก็เกิดขึ้น

เนื้อเรื่องตอนที่ 2 ความขัดแย้ง ต้นเหตุของความยุ่งยาก 
                จุดเริ่มต้นที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้ตัวละครประกอบความยุ่งยาก และเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายอันเป็นการดำเนินเรื่อง
ของบทละครเรื่องนี้ เกิดจากอัยยิกาของอิเหนาที่เมืองหมันหยาสิ้นพระชนม์ อิเหนาจึงเสด็จไปในงานพระเมรุแทนท้าวกุเรปัน แต่เสร็จพิธีแล้วอิเหนาไม่ยอมกลับ เพราะหลงรักนาง จินตะหรา ธิดาท้าวหมันหยา จนท้าวกุเรปันต้องมีสารไปเตือน เมื่อกลับมากรุงกุเรปันแล้วและใกล้เวลาอภิเษกกับบุษบา อิเหนาก็ไม่ใคร่เต็มใจ จึงออกอุบายทูลลาพระบิดาไปประพาสป่า แล้วปลอมองค์เป็น ปันหยีหรือโจรป่า นามว่ามิสาระปันหยี คุมไพร่พลรุกรานเมืองต่าง ๆ เมื่อเสด็จไปถึงเมืองใดก็ได้เมืองนั้นเป็นเมืองขึ้น ระตูหลายเมืองได้ถวายโอรส

และธิดาให้ ที่สำคัญคือระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงัน ได้ถวายธิดาคือมาหยารัศมีและสะการวาตี ซึ่งต่อมาได้เป็นชายาของอิเหนา และถวายโอรสคือสังคามาระตา ซึ่งอิเหนายกย่องให้เป็นน้องและเป็นทหารคู่ใจ กองทัพของปันหยีรอนแรมไปจนถึงเมืองหมันหยา ท้าวหมันหยาไม่กล้าต่อสู้และยอมยกธิดาให้ แต่พอรู้ว่าเป็นอิเหนา ท้าวหมันหยาไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญา อิเหนาจึงลอบเข้าหานางจินตะหราและได้เสียกัน ท้าวหมันหยาก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้           
พอถึงกำหนดการอภิเษก ท้าวดาหาก็มีสารถึงท้าวกุเรปันให้เตรียมพิธีอภิเษก แต่อิเหนาบอกปัด ทำให้ท้าวดาหาโกรธมาก จึงประกาศจะยกบุษบาให้กับใครก็ได้ที่มาขอ เพราะฉะนั้นเมื่อระตูจรกา กษัตริย์รูปชั่วตัวดำ ให้พี่ชายคือระตูล่าสำไปสู่ขอบุษบาให้ตน ท้าวดาหาก็ยอมยกให้ ต่อมา ท้าวกระหมังกุหนิง ส่งทูตมาสู่ขอบุษบาให้วิหยาสะกำซึ่งเป็นโอรส แต่ท้าวดาหาปฏิเสธเพราะได้
ยกให้ระตูจรกาไปแล้ว เป็นเหตุให้ท้าวกะหมังกุหนิงโกรธและยกกองทัพมาล้อมเมืองดาหา ท้าว ดาหาจึงขอกำลังจากพระเชษฐาและพระอนุชา ท้าวกุเรปันมีคำสั่งให้อิเหนาไปช่วยรบ อิเหนาจึงจำใจต้องจากนางจินตะหราและยกกองทัพไปช่วยรบ การศึกครั้งนี้ อิเหนามีชัยชนะ ท้าวกะหมังกุหนิงถูกอิเหนาฆ่าตายและโอรสคือวิหยาสะกำถูกสังคามาระตาฆ่าตาย กองทัพที่ล้อมเมืองดาหาก็แตกพ่ายไป เมื่อชนะศึกแล้ว อิเหนาก็ได้เข้าเฝ้าท้าวดาหาและได้พบกับบุษบา อิเหนาได้เห็นความงามของบุษบาก็หลงรักและเสียดาย พยายามหาอุบายอยู่ในเมืองดาหาต่อไป และพยายามหาโอกาสใกล้ชิดบุษบา โดยอาศัยสียะตราเป็นสื่อรัก อิเหนาพยายามหาวิธีการทุกทางเพื่อจะได้บุษบาเป็นของตน เช่นตอนที่ท้าวดาหาไปใช้บนที่เขาวิลิศมาหรา อิเหนาได้แอบสลักสารบนกลีบดอกปะหนัน (ลำเจียก) ให้นาง แอบเข้าไปในวิหารพระปฏิมา ตรัสตอบคำถามแทนพระปฏิมา ต้อนค้างคาวมาดับไฟแล้วแอบมากอดนาง ตลอดจนคาดคั้นมะเดหวีให้ช่วยเหลือตน เป็นต้น และเมื่อท้าวดาหาจะจัดพิธีอภิเษกระหว่างบุษบากับระตูจรกา อิเหนาก็ใช้วิธีการสุดท้ายโดยการทำอุบายเผาเมือง แล้วลอบพานางบุษบาหนีออกจากเมืองไปซ่อนในถ้ำที่เตรียมไว้ และได้นางเป็นมเหสี

เนื้อเรื่องตอนที่ 3 ปัญหาใหม่ และการมะงุมมะงาหรา
หลังจากอิเหนากับบุษบาเข้าใจกันแล้ว ก็เกิดความยุ่งยากใหม่ขึ้นกับตัวละครอีก เพราะองค์ปะตาระกาหลาทรงพิโรธอิเหนาที่ก่อเหตุวุ่นวายมาตลอด จึงดลบันดาลให้ลมหอบเอานางบุษบาพร้อมพี่เลี้ยงสองนาง ไปตกในเมืองปะมอตันขณะที่อิเหนาเข้าไปในเมืองดาหาเพื่อแก้สงสัย อิเหนากลับมาไม่พบบุษบาก็ปลอมองค์เป็นปันหยีออกตามหา พร้อมกับนำวิยะดาไปด้วยกับตน โดยให้ปลอมเป็นปันหยีชื่อเกนหลงหนึ่งหรัด ผ่านเมืองใดก็รบพุ่งเอาไปเป็นเมืองขึ้นไปตลอดรายทาง จนถึงเมืองกาหลัง จึงขออาศัยอยู่ด้วยส่วน
บุษบา หลังจากลมหอบไปยังเมืองปะมอตันแล้ว องค์ปะตาระกาหลา ก็สำแดงตนบอกเล่า เรื่องราวให้ทราบว่า นี่เป็นการลงโทษอิเหนา ทั้งสองจะต้องผจญความลำบากอยู่ระยะหนึ่ง จึงจะได้พบกันองค์ปะตาระกาหลาได้แปลงตัวบุษบาให้เป็นชาย มอบกริชจารึกพระนามว่ามิสาอุณากรรณ ให้มีความสามารถทางการรบ หลังจากนั้น อุณากรรณเดินทางเข้าเมืองปะมอตัน ท้าวปะมอตันรับเลี้ยงไว้เป็นโอรส ต่อมาอุณากรรณกับพี่เลี้ยงก็ยกพลออกเดินทางเพื่อตามหาอิเหนา ผ่านเมืองใดเจ้าเมืองไม่อ่อนน้อมก็รบพุ่งได้ชัยชนะหลายเมือง จนกระทั่งถึงเมืองกาหลัง ได้พบกับปันหยี ทั้งสองฝ่ายต่างก็แคลงใจว่าอีกฝ่ายคือบุคคลที่ตนเที่ยวหา แต่ก็ไม่กล้าเปิดเผยตัว ได้แต่สังเกตและคุมเชิงกันอยู่ที่เมืองกาหลัง ปันหยีและอุณากรรณได้เข้าอ่อนน้อมต่อท้าวกาหลัง ท้าวกาหลังก็ทรงโปรดทั้งสองเหมือนโอรส ต่อมามีศึกมาประชิดเมืองเพราะท้าวกาหลังไม่ยอมยกธิดา คือสะการะหนึ่งหรัดให้ ปันหยีและอุณากรรณอาสารบและสามารถชนะศึกได้อย่างง่ายดาย เหตุการณ์นี้ทำให้ปันหยี อุณากรรณและสะการะหนึ่งหรัดใกล้ชิดสนิดสนมกันมากยิ่งขึ้น ทำให้อุณากรรณกลัวความจะแตกว่านางเป็นหญิง กอปรกับต้องการติดตามหาอิเหนาต่อไป จึงทูลลาท้าวกาหลังกลับเมืองปะมอตัน แต่นางออกอุบายให้ทหารกลับเมืองตามลำพัง ส่วนนางกับพี่เลี้ยงหนีไปบวชชี (แอหนัง) เพื่อหาทางหลบหนีการตามพัวพันของปันหยี
ฝ่ายสียะตราแห่งเมืองดาหา ครั้นทำพิธีโสกันต์เสร็จก็แอบหนีพระบิดาปลอมตัวเป็นปัจจุเหร็จโจรป่าชื่อ ย่าหรัน ออกเดินทางหาอิเหนาและบุษบา องค์ปะตาระกาหลาแปลงเป็นนกยูงมาล่อย่าหรันไปถึงเมืองกาหลังได้เข้าเฝ้าและพำนักอยู่ในเมือง ต่อมาย่าหรันและปันหยีเกิดต่อสู้กัน เพราะเกนหลงหนึ่งหรัดเป็น ต้นเหตุ ในที่สุดอิเหนาและสียะตราก็จำกันได้ เพราะมองเห็นกริชของกันและกัน 
ต่อมาปันหยีทราบว่ามีแอหนังบวชบนภูเขา รูปงามละม้ายบุษบา จึงออกอุบายปลอมตัวเป็นเทวดาหลอกนางมายังเมืองกาหลัง เมื่อปันหยีพิศดูนางก็ยิ่งละม้ายนางบุษบา แต่พอเห็นกริชของนาง ชื่ออุณากรรณ ก็เข้าใจว่านางเป็นชายาของอุณากรรณ ฝ่ายพี่เลี้ยงของปันหยีคิดเล่นหนังทดสอบแอหนัง โดยผูกเรื่องตามชีวิตจริงของอิเหนากับบุษบาทุก ๆ ตอน นางแอหนังฟังเรื่องราวก็ร้องไห้คร่ำครวญ ทั้งสองฝ่ายจึงจำกันได้ อิเหนาจึงให้นางสึกจากชี ระเด่นทั้งสี่ คือ อิเหนา บุษบา สียะตรา และวิยะดา จึงพบกันและจำกันได้หลังจากดั้นด้นติดตามกันโดยปราศจากทิศทาง (มะงุมมะงาหรา) เสียนาน

เนื้อเรื่องตอนที่ ปิดเรื่อง
กษัตริย์วงศ์เทวาได้มาพร้อมกัน ณ เมืองกาหลัง หลังจากทราบเรื่องและเข้าใจกันดีแล้ว จึงได้มีการ
อภิเษกสมรสกันขึ้นระหว่างคู่ตุนาหงันในวงศ์เทวา พร้อมทั้งอภิเษกธิดาระตูอื่น ๆ เป็นมเหสีกษัตริย์วงศ์เทวาจนครบตำแหน่ง เช่น อิเหนาอภิเษกกับบุษบาและจินตะหรา โดยบุษบาเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย จินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวา สะการะวาตีเป็นมะเดหวีฝ่ายขวา มาหยารัศมีเป็นมะเดหวีฝ่ายซ้าย บุษบาวิลิศเป็นมะโตฝ่ายขวา บุษบากันจะหนาเป็นมะโตฝ่ายซ้าย ระหนากะระติกาเป็นลิกูฝ่ายขวา อรสานารีเป็นลิกูฝ่ายซ้าย สุหรันกันจาส่าหรี เป็นเหมาหลาหงีฝ่ายขวา หงยาหยาเป็นเหมาหลาหงีฝ่ายซ้าย สียะตราอภิเษกกับวิยะดา สุหรานากงกับสะการะหนึ่งหรัด กะหรัดตะปาตีกับบุษบารากา สุหรานากงครองเมืองสิงหัดส่าหรี กะหรัดตะปาตีครองเมืองกาหลัง

บทวิเคราะห์

คุณค่าด้านเนื้อหา
๑.โครงเรื่อง
๑.๑) แนวคิดของเรื่อง  เรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูก รักและตามใจลูกทุกอย่าง แม้กระทั่งตัวตายก็ยอม
๑.๒) ฉาก เนื้อเรื่องเป็นเรื่องของชวา แต่การบรรยายฉากในเรื่องเป็นฉากของไทย บ้านเมืองที่กล่าวพรรณนาไว้คือกรุงรัตนโกสินทร์ วัฒนธรรมประเพณีที่ปรากฏในเรื่องคือเรื่องของไทยที่สอดแทรกเอาไว้อย่างมีศิลปะ อาทิ พระราชพิธีสมโภชลูกหลวง (เมื่ออิเหนาประสูติ) พระราชพิธีการพระเมรุที่เมืองหมันหยา     พระราชพิธีรับแขกเมือง เมื่อเมืองดาหารับทูตจรกา) พระราชพิธีโสกันต์ (สียะตรา) ซึ่งล้วนเป็นพระราชพิธีของไทยแต่โบราณ
๑.๓) ปมขัดแย้ง ตอนศึกกะหมังกุหนิง มีหลายข้อขัดแย้ง แต่ละปมปัญหาเป็นเรื่องที่อาจเกิดได้ในชีวิตจริง และสมเหตุสมผล เช่น
                ปมแรก คือ ท้าวกุเรปันจะให้อิเหนาอภิเษกกับบุษบา แต่อิเหนาหลงรักจินตะหรา ไม่ยอมอภิเษกกับบุษบา
                ปมที่สอง ท้าวดาหาขัดเคืองอิเหนา ยกบุษบาให้จรกา ทำให้ท้าวกุเรปันและพระญาติทั้งหลายไม่  พอพระทัย
                ปมที่สาม ท้าวกะหมังกุหนิงขอบุษบาให้วิหยาสะกำ แต่ท้าวดาหายกให้จรกาไปแล้ว จึงเกิดศึกชิงนางขึ้น
                ปมที่สี่ อิหนาจำเป็นต้องไปช่วยดาหา จินตะหลาคิดว่าอิเหนาจะไปอภิเษกกับบุษบา จินตะหราขัดแย้งในใจตนเอง หวั่นใจกับสถานภาพของตนเอง
                 ปมที่สามเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด  เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงคิดจะทำสงครามกับกรุงดาหาเพื่อชิงนางบุษบามาให้วิหยาสะกำโอรสองพระองค์  ท้าวกะหมังกุหนิงหารือกับระตูปาหยังและท้าวปะหมันผู้เป็นอนุชา  ทั้งสองทัดทานว่าดาหาเป็นเมืองใหญ่ของกษัตริย์วงศ์อสัญแดหวาผู้มีฝีมือเลื่องลือในการสงคราม  ส่วนกะหมังกุหนิงเป็นเพียงเมืองเล็ก ๆ คงจะสู้ศึกไม่ได้  แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ไม่ฟังคำทัดทานเพราะรักลูกมากจนไม่อาจทนเห็นลูกทุกข์ทรมารได้  แม้จะรู้ว่าอาจสู้ศึกไม่ได้  แต่ก็ตัดสินใจทำสงครามด้วยเหตุผลที่บอกแก่อนุชาทั้งสองว่า
                         แม้วิหยาสะกำมอดม้วย               พี่ก็คงตายด้วยโอรสา
                         ไหนไหนจะตายวายชีวา              ถึงเร็วถึงช้าก็เหมือนกัน
                         ผิดก็ทำสงครามดูตามที               เคราะห์ดีก็จะได้ดังใฝ่ฝัน
                         พี่ดังพฤกษาพนาวัน                    จะอาสัญเพราะลูกเหมือนกล่าวมา
๒.ตัวละคร ในเรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง มีตัวละครที่มีบทบาทสำคัญปรากฏอยู่มาก ตัวละครมีบุคลิกลักษณะนิสัยที่โดดเด่นและแตกต่างกัน เช่น
๒.๑) ท้าวกุเรปัน เป็นกษัตริย์วงศ์เทวาผู้ยิ่งใหญ่ มีอนุชา ๓ องค์ ครองเมืองดาหา กาหลัง สิงหัดส่าหรี มีโอรสและธิดากับประไหมสุหรี คือ อิเหนากับวิยะดา และมีโอรสกับลิกูหนึ่งองค์ คือ กะหรัดตะปาตี ท้าวกุเรปันมีลักษณะนิสัย ดังนี้
                (๑) เป็นคนถือยศศักดิ์ ไม่ไว้หน้าใคร ไม่เกรงใจใคร เช่น ในราชสาส์นถึงระตูหมันหยา กล่าวตะหนิติเตียนระตูหมันหยาอย่างไม่ไว้หน้าว่า เป็นใจให้จอนตะหราแย่งคู่หมั้นบุษบา สอนลูกให้ยั่วยวนอิเหนาจนเป็นต้นเหยตุให้บุษบาร้างคู่ตุนาหงัน แม้อันที่จริงท้าวกุเรปันน่าจะคำนึงถึงจิตใจของท้าวหมันหยาบ้าง เพราะอย่างไรจินตะหราก็เป็นหลานของประไหมสุหรีและผู้ที่ผิดควรจะเป็นอิเหนามากกว่า
                                  ในลักษณ์อักษรสารา               ว่าระตูหมันหยาเป็นผู้ใหญ่
                         มีราชธิดายาใจ                              แกล้งให้แต่งตัวไว้ยั่วชาย
                         จนลูกเราร้างคู่ตุนาหงัน                ไปหลงรักผูกพันมั่นหมาย
                         จะให้ชิงผัวเขาเอาเด็ดดาย             ช่างไม่อายไพร่ฟ้าประชาชน
                         บัดนี้ศึกประชิดติดดาหา               กิจจาลือแจ้งทุกแห่งหน
                         เสียงงานการวิวาห์จราจล              ต่างคนต่างข้องหมองใจ
                         การสงครามครั้งนี้มีไปช่วย           ยังเห็นชอบด้วยหรือไฉน
                         จะตัดวงศ์ตัดญาติให้ขาดไป          ก็ตามแต่น้ำใจจะเห็นดี

                ในพระราชสาส์นของท้าวกุเรปันถึงอิเหนาได้ยกความผิดให้จินตะหรา  จึงมีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ แต่ไม่มีเมตตา ถือยศศักดิ์และอาจพิจารณาถึงความเป็นปุถุชนที่ย่อมมีความลำเอียงเข้าข้างคนใกล้ตัว  
                (๒) เป็นคนเข้มแข็งและเด็ดขาด ดังพระราชสาส์นสั่งการให้อิเหนายกทัพไปช่วยเท้าดาหา ถ้าไม่ไปก็จะตัดพ่อตัดลูกกับอิเหนา
                                แม้นมิยกพลไกรไปช่วย                     ถึงเราม้วยก็อย่ามาดูผี                                      
                              อย่าดูทั้งเปลวอัคคี                                แต่วันนี้ขาดกันจนบรรลัย

                (๓) เป็นคนรักเกียรติรักวงศ์ตระกูล โดยการสั่งให้กะหรัดตะปาตีโอรสองค์แรกกับลิกู และอิเหนา ไปช่วยเมืองดาหารบ เพราะเห็นว่า ถ้าเสียเมืองดาหาย่อมหมายถึงกษัตริย์วงศ์เทวาพ่ายแพ้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าอายอย่างยิ่ง ดังนี้
                              มาตรแม้นเสียเมืองดาหา                   จะพลอยอายขายหน้าหรือหาไม่

๒.๒) ท้าวดาหา เป็นอนุชาองค์รองของท้าวกุเรปัน มีราชธิดากับประไหมสุหรีชื่อบุษบา ซึ่งเป็นตุนาหงันของอิเหนา และมีโอราองค์เล็กชื่อสียะตรา เป็นคู่ตุนาหงันของวิยะดา ขนิษฐาของอิเหนา ท่าวดาหามีลักษณะนิสัย ดังนี้
                (๑) เป็นผู้รักษาวาจา เมื่อพลั้งปากพูดว่าจะยกบางบุษบาให้ใครก็ได้ที่มาสู่ขอ ครุ้นจรกามาสู่ขอก็รักษาวาจาสัตย์ ยกบุษบาให้จรกา แม้ท้าวกะหมังกุหนิงจะส่งทูตมาขอนางบุษบาให้วิหยาสะกำ ก็ทรงปฏิเสธจนเป็นเหตุให้ท้าวกะหมังกุหนิงยกทัพมาทำสงคราม

                                    อันอะหนะบุษบาบังอร                  ครั้งก่อนจรกาตุนาหงัน
                                    
ได้ปลดปลงลงใจให้มั่น                      นัดกันจะแต่งการวิวาห์
                                    
ซึ่งจะรับของสู่ระตูนี้                             เห็นผิดประเพณีหนักหนา
                         
        ฝูงคนทั้งแผ่นดินจะนินทา                 สิ่งของที่เอามาจงคืนไป       
           
(๒) เป็นผุ้มีขัตติยมานะ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว เมื่อขอความช่วยเหลือในการศึกสงครามไปยังพี่น้อง หากไม่มีใครมาช่วยก็จะขอสู้รบโดยลำพัง
                               
แม้นจะเคืองขัดตัดรอน                ทั้งสามพระนครหาช่วยไม่แต่ผู้เดียวจะเคี่ยวสงครามไป             
จะยากเย็นเป็นกระไรก็ตามที
(๓) เป็นผู้มีความรอบคอบในการศึก เมื่อรู้ว่าจะต้องเกิดศึกสงครามแน่ก็วางแผนสั่งการให้แจ้งข่าวไปยังเมืองพี่น้องทั้งสามเมือง และระตูจรกาให้มาช่วย ทั้งยังได้สั่งให้มีการตกแต่งค่ายคู หอนบ และเตรียมกำลังทัพรับศึก

                                คิดพลางทางสั่งเสนาใน                     เร่งให้เกณฑ์คนขึ้นหน้าที่                                                                                     รักษามั่นไว้ในบุรี                                จะดูทีข้าศึกซึ่งยก                                        
                              อนึ่งจะคอยท่าม้าใช้                             ที่ให้ไปแจ้งเหตุพระเชษฐา                                                                                     กับสองศรีราชอนุชา                          ยังจะมาช่วยหรือประการใด

๒.๓) อิเหนา เป็นโอรสท้าวกุเรปันกับประไหมสุหรี มีขนิษฐาชื่อ วิยะดา อิเหนาเป็นเจ้าชายหนุ่มรูปงาม เข้มแข็ง เด็ดขาด เอาแต่ใจตัว เจ้าชู้ มีมเหสีหลายพระองค์ คือ นางจินตะหรา นางสการะวาตี นางมาหยารัศมี และนางบุษบา
                (๑) เป็นคนรอบคอบ มองการณ์ไกล ไม่ประมาท เช่น ตอนที่สังคามาระตารบกับวิหยาสะกำ อิเหนาได้เตือนสังคามาระตาว่า ไม่ชำนาญกระบี่ อย่าลงจากหลังม้า เพราะเพลงทวนนั้นชำนาญอยู่แล้ว จะเอาชนะได้ง่ายกว่า

                              เมื่อนั้น                                     ระเด่นมนตรีใจหาญ
                                   
จึงตอบอนุชาชัยชาญ                     เจ้าจะต้านต่อฤทธิ์ก็ตามใจ
                                    
แต่อย่าลงจากพาชี                          เพลงกระบี่ยังหาชำนาญไม่
                                    
เพลงทวนสันทัดจัดเจนใจ          เห็นจะมีชัยแก่ไพรี

                (๒) เป็นคนดื้อดึง เอาแต่ใจตนเอง เช่น เมื่อได้รับพระราชสาส์นจากท้าวกุเรปันถึงสองฉบับก็ดื้อดึง ไม่ยอมกลับเมืองกุเรปันและไม่ยอมอภิเษกกับบุษบา ถึงกับบอกว่าใครมาขอก็ให้เขาไปเถิด ดังนี้

             สมเด็จพระบิดาให้หาพี่            ใช่แต่ครั้งนี้นั้นหาไม่                                                                         ถึงสองครั้งพี่ขัดรับสั่งไว้             ยังมิได้บอกเจ้าให้แจ้งการ

                (๓) เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ รักชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เมื่อเกิดศึกกะหมังกุหนิง แม้จะเคยดื้อดึงเอาแต่ใจตนเอง แต่เมื่อทราบข่าวศึกจึงต้องรีบไปช่วย ดังที่กล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่จะต้องไปช่วยป้องกันเมืองดาหา ลักษณะนิสัยข้อนี้เหมือนกันกับท้าวกุเรปัน ดังที่อิเหนาบอกจินตะหราว่า

                                                    แม้เสียดาหาก็เสียวงศ์                     อัปยศถึงองค์อสัญหยา

                (๔) เป็นคนรู้สำนึกผิด เมื่อยกทัพมากรุงดาหา ไม่กล้าเข้าเฝ้าท้าวดาหาทันที จึงขอพักพลนอกเมือง และทำการรบแก้ตัวก่อน จากนั้นให้ตำมะหงงไปเฝ้าท้าวดาหาและรายงานว่า

              ให้ข้าทูลองค์พระทรงฤทธิ์          ด้วยโทษผิดติดพันอยู่หนักหนา
                            
จะขอทำการสนองพระบาทา          เสร็จแล้วจึงจะมาอัญชลี

(๕) เป็นคนเคารพยำเกรงบิดา คือ ท้าวกุเรปัน แม้จะดื้อดึงเป็นบางครั้ง แช่นตอนที่อิเหนาจะหนีออกจากเมืองไปอยู่กับนางจินตะหราที่เมืองหมันหยา แต่ท้าวกุเรปันมีพระราชสาส์นสั่งให้นำทัพไปช่วยท้าวดาหา แม้อิเหนาไม่อยากจากนางจินตะหรา แต่ด้วยความยำเกรงบิดาจึงยอมยกทัพไป

จะจำจากโฉมเฉลาเยาวเรศ                เพราะเกรงเดชบิตุรงค์ทรงศักดิ์                                          หรือ
นี่จำเป็นจึงจำจากไป                           เพราะกลัวภัยพระราชบิดา

                (๖) เป็นคนที่มีอารมณ์ละเอียดอ่อน เข้าใจ และห่วงความรู้สึกของผู้อื่น เช่น เมื่อรู้ว่าจะต้องจากนางจินตะหรา ก็พูดปลอบโยนให้นางคลายเศร้าโศก ทั้งยังมอบสร้อยสังวาลไว้เป็นเครื่องรำลึกถึง

                นอกจากนี้อิเหนายังแสดงความห่วงใยนางมาหยารัศมีและนางสการะวาตี จึงได้เอ่ยปากฝากนางทั้งสองไว้กับนางจินตะหรา ให้เมตตานางทั้งสองด้วย

เป็นเวรากรรมจึงจำจาก                   ขอฝากมาหยารัศมี                                                             กับนางสการะวาตี                                       ดัวยทรามวัยไร้ที่พึ่งพา                                                                  นางไกลบิตุราชมาตุรงค์                  โฉมยงอย่าเคียดขึ้งหึงสา                                                           ถ้าพลั้งผิดสิ่งไรได้เมตตา                     อย่าถือโทษโกรธาเทวี
               
๒.๔) จินตะหรา ราชธิดาของระตูหมันหยากับประไหมสุหรี ซึ่งเป็นญาติทางฝ่ายประไหมสุหรีเมืองกุเรปัน และประไหมสุหรีเมืองดาหา เป็นคนสวย แสนงอน มีจริตกิริยา มีลักษณะนิสัย ดังนี้
                (๑) เป็นคนแสนงอนใจน้อย ช่างพูดจาตัดพ้อต่อว่า ประชดประชันตามประสาหญิง มีคารมคมคาย สามารถใช้คำพูดได้ลึกซึ้งกินใจ

พระจะไปดาหาปราบข้าศึก               หรือรำลึกถึงคู่ตะนาหงัน
ด้วยสงครามในจิตยังติดพัอ               จึงบิดผันพจนาไม่อาลัย
ไหนพระผ่านฟ้าสัญญาน้อง              จะปกป้องครองความพิสมัย
ไม่พิราศแรมร้างห่างไกล                  จนบรรลัยมอดม้วยไปด้วยกัน
..........................................................................................                                                                 แล้วว่าอนิจจาความรัก                         พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป               ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา

                (๒) เป็นคนมีเหตุผล ไม่ดื้อดึง ไม่งอนจนเกินงาม เช่น เมื่อทราบว่าอิเหนาจำต้องไปทำศึกที่เมืองดาหาเพราะได้รับคำสั่งจากท้าวกุเรปันและเพื่อป้องกันวงศ์อสัญหยา นางก็คลายความทุกข์โศก ความน้อยใจ และความหวาดระแวงลงยอมให้อิเหนายกทัพไปแต่โดยดี

                                                เมื่อนั้น                                         จินตะหราวาตีโฉมเฉลา
                          
ได้เห็นสารทราบความสำเนา                         ค่อยบรรเทาเบาทุกข์แคลงใจ
                         
จึงเคลื่อนองค์ลงจากพระเพลาพลาง            นวลนางบังคมแถลงไข
                         
ซึ่งพระจะเสด็จไปชิงชัย                                    ก็ตามใจไม่ขัดอัธยา
                          
แม้สำเร็จราชการงานศึก                                  แล้วรำลึกอย่าลืมหมันหยา
                          
จงเร่งรีบยกทัพกลับมา                                     น้องจะนับวันท่าภูวไนย

                (๓) เป็นคนที่มีความรู้สึกไว รับรู้ไว แน่ใจว่าอิเหนาไปแล้วคงไม่กลับมาเพราะการที่มีคนมาแย่งชิงบุษบา ก็หมายความว่าบุษบาเป็นสวย เชื่อมั่นว่าอิเหนาพบบุษบาแล้วคงลืมตนแน่ จึงรำพันด้วยความน้อยใจว่า

๒.๕) ท้าวกะหมังกุหนิง เป็นกษัตริย์เมืองกะหมังกุหนิง มีอนุชาสององค์ คือ ระตูปาหยัง กับระตูประหมัน โอรสคือวิหยาสะกำ มีลักษณะนิสัย ดังนี้
                (๑) เป็นคนรักลูกยิ่งชีวิต ยอมทำทุกอย่างเพื่อลูก แม้ตนจะต้องตายก็ยอม เช่น

                           แม้นวิหยาสะกำมอดม้วย                     พี่ก็คงตายด้วยโอรสา
                                    ไหนไหนในจะตายวายชีวา                 ถึงเร็วถึงช้าก็เหมือนกัน
                                     ผิดก็ทำสงครามดูตามที                        เคราะห์ดีก็จะได้ดั่งใฝ่ฝัน
                                    พี่ดังพฤกษาพนาวัน                                จะอาสัญเพราะลูกเหมือนกล่าวมา

                (๒) เป็นคนตัดสินใจเด็ดขาด เด็ดเดี่ยว กล้าหาญในการรบ เช่น

                                    จำจะไปต้านต่อรอฤทธิ์                  ถึงม้วยมิดมิให้ใครดูหมิ่น
                        เกียรติยศจะไว้ในธรณินทร์               จนสิ้นสุดดินแดนแผ่นฟ้า

                (๓) เป็นคนประมาท คาดการณ์ผิด ไม่รู้จักวิเคราะห์ฝ่ายข้าศึก คือคาดว่าอิเหนาอยู่ในหมันหยา กำลังเคืองกันอยู่กับท้าวกุเรปัน คงไม่ยกทัพมาช่วยรบ แต่ผิดคาด เนื่องจากอิเหนายกทัพมารบกับท้าวกะหมังกุหนิงจนมีชัยชนะและฆ่าวิหยาสะกำตายในที่สุด
                                    
 อันระเด่นมนตรีกุเรปัน                        ก็ขัดเคืองกันไปข้อใหญ่
                   
ไปอยู่เมืองหมันหยากว่าปีไป           ที่ไหนจะยกพลมา
 อันระเด่นมนตรีกุเรปัน                       ก็ขัดเคืองกันไปข้อใหญ่
                   
ไปอยู่เมืองหมันหยากว่าปีไป           ที่ไหนจะยกพลมา

๒.๖) วิหยาสะกำ เป็นหนุ่มน้อยรูปงาม โอรสองค์เดียวของท้าวกะหมังกุหนิง เป็นที่รักของพ่อแม่ มีลักษณะนิสัย ดังนี้
                (๑) เอาแต่ใจตนเอง จะเอาอะไรต้องได้ ดังที่ท้าวกะหมังกุหนิงบอกปาหยังกับประหมันว่า
                                เอ็นดูนัดดาโศกาลัย                             ว่ามิได้อรไทจะมรณา
                (๒) เป็นคนอ่อนไหว ขาดสติ แค่เห็นภาพวาดของบุษบาก็หลงใหล จนถึงกับครองสติไม่ได้และสลบไป
                (๓) เป็นคนที่รักศักดิ์ศรี มีความละอายแก่ใจที่ทำให้พ่อแม่เดือดร้อน เช่น ตอนที่อิเหนากล่าวจาบจ้วงท้าวกะหมังกุหนิง วิหยาสะกำแค้นจึงตอบไปว่า
          เมื่อนั้น                                                             วิหยาสะกำใจกล้า
                   
ได้ฟังคั่งแค้นแทนบิดา                                      จึงร้องตอบวาจาว่าไป
                   
ดูก่อนอริราชไพรี                                                อย่าพาทีลบหลู่ท่านผู้ใหญ่
                   
โอหังบังอาจประมาทใคร                               จะนบนอบยอมไหว้อย่าพึงนึก
                   
มิเราก็เจ้าจะตายลง                                             อย่าหมายจิตคิดทะนงในการศึก
                   
ยังมิทันพันตูมาขู่ศึก                                          จะรับแพ้แลลึกไม่มีลาย
คุณค่าด้านกลวิธีการแต่ง

                บทละครเรื่องอิเหนาตอนนี้มีการใช้สำนวนโวหารและกวีโวหารที่งดงามและถ่ายทอดเนื้อความได้อย่างลึกซึ้งกินใจ ทำให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ และยังมีการใช้กลวิธีการแต่งอีกหลายลักษณะ ดังนี้
๑.จินตภาพกวีใช้คำบรรยายได้ชัดเจน ทำให้ผู้อ่านสามารถนึกภาพตามและได้รับอรรถรสในการอ่านมากขึ้น เช่น ตอนที่อิเหนาต่อสู้กับท้าวกะหมังกุหนิง จะเห็นลีลาท่าทางการต่อสู้ที่คล่องแคล่วฉับไง โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้คำที่มีความหมายแสดงอาการเคลื่อนไหว อย่างเช่น ติดตาม หลบหลีก ไวว่อง ป้องกัน ผัด ผัน หัน กลอก กับ ปะทะ แทง กะหยับ เป็นต้น   

                                      เมื่อนั้น                                             ระเด่นมนตรีชาญสนาม
                          
พระกรกรายฉายกริชติดตาม                         ไม่เข็ดถามคร้ามถอยคอยรับ
                          
หลบหลีกไวว่องป้องกัน                            ผัดผันหันออกกลอกกลับ
                          
ปะทะแทงแสร้งทำสำทับ                                ย่างกระหยับรุกไล่มิได้ยั้ง
                          
เห็นระตูถอยเท้าก้าวผิด                                    พระกรายกริชแทงอกตลิดหลัง
                          
ล้มลงด้าวดิ้นสิ้นกำลัง                                     มอดม้วยชีวังปลดปลง

๒.ภาพพจน์ ภาพพจน์ที่กวีนำมาใช้มีหลายลักษณะ และล้วนทำให้บทละครเรื่องอิเหนานี้มีความไพเราะสละสลวย และสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้ลึกซึ้งกินใจ ดังนี้
๒.๑)การเปรียบเทียบแบบอุปมาหรืออุปมาโวหาร เป็นการใช้โวหารเปรียบเทียบโดยใช้คำเปรียบเทียบเหมือนกับสิ่งหนึ่ง ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนขึ้น

กรุงกษัตริย์ขอขึ้นก็นับร้อย                       เราเป็นเมืองน้อยกระจิหริด
ดังหิ่งห้อยจะแข่งแสงอาทิตย์                    เห็นผิดระบอบบุราณมา
............................................................................................................                                                   ม้ารถคชหกรรม์ครั่นครื้น                        ดังเสียงคลื่นในสมุทรไม่ขาดสาย
บัดนี้มาตั้งอยู่เนินทราย                             ที่ชายทุ่งกับป่าต่อกัน

                       ในคำค่ำครวญของจินตะหราที่เปรียบความรักเหมือนสายน้ำที่ไหลไปแล้วจะไม่มีวันไหลย้อนกลับ ซึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจในฐานะของตนเอง เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าอาจต้องสูญเสียคนรัก เพราะข่าวการแย่งบุษบาแสดงว่าบุษบาต้องสวยมาก อีกทั้งยังเป็นคู่มั่นของอิเหนามาก่อน ยิ่งทำให้รู้สึกหวาดหวั่น ดังคำประพันธ์ที่อ่านแล้วเกิดอารมณ์สะเทือนใจ สงสารและเห็นใจว่า


แล้วว่าอนิจจาความรัก                  พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
                 ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไปที่ไหนเลยจะไหลคืนมา
สตรีใดในพิภพจบแดนไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า
ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตราจะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์
อีกตอนหนึ่งใช้อุปมาโวหารได้กินใจเช่นกัน เพราะแสดงความรักอันท่วมท้นของพ่อที่มีต่อลูก

                          พี่ดังพฤกษาพนาวัน                     จะอาสัญเพราะถูกเหมือนกล่าวมา

                          จะเห็นได้ว่าความรักของพ่อที่มีต่อลูก ทำให้ผู้เป็นพ่อทนไม่ได้เมื่อเห็นลูกมีความทุกข์ หากแลกได้จะยอมรับทุกข์แทนลูก แต่เมื่อทำไม่ได้พ่อก็ต้องพยายามอย่างถึงที่สุด แม้รู้ว่าจะไปตามก็ยอม บทเปรียบเทียบนี้เปรียบกับธรรมชาติ คือ ต้นไม้บางประเภทที่เมื่ออกผลแล้วต้นจะตายไป ต้นไม้ตายเพราะลูกก็เปรียบได้กับท้าวกะหมังกุหนิงต้องตามเพราะมีสาเหตุมาจากวิหยาสะกำซึ่งเป็นพระราชโอรสนั่นเอง อุปมานี้ฝากข้อคิดไว้ให้ลูกๆ ให้รู้ว่าพ่อแม่รักเรามากเพียงใด
                         หรืออีกตอนหนึ่งเป็นข้อความในพระราชสาส์นที่ท้าวกุเรปันมีถึงอิเหนา ท้าวกุเรปันเป็นคนรักลูกก็จริง แต่หยิ่งในเกียรติ ถือยศถือศักดิ์ ถ้าลูกผิดก็จะไม่มีวันโอนอ่อน คำประพันธ์ตอนนี้จึงให้อารมณ์เด็ดขาด เข็มแข็ง ไม่มีการอ้อนวอนขอร้องใดๆ เปิดโอกาสให้อิเหนาคิดเอาเอง หากไม่มาก็คือตัดพ่อตัดลูกไม่ต้องมาเผาผีกัน
                        แม้นมิยกพลไกรไปช่วย                     ถึงเราม้วยก้อย่ามาดุผี
                        อย่าดูทั้งเปลวอัคคี                              แต่วันนี้ขาดกันจนบรรลัย
๒.๒)การเปรียบเทียบเกินจริงหรือการใช้โวหารแบบอติพจน์ เป็นการใช้คำเปรียบเทียบที่เกินจริง เพื่อเน้นความรู้สึกทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้งได้ง่าย
                          ได้ฟังดังศรเสียบกรรณ                     จึงตอบไปพลันทันใดหรือ
                          ฟังวิทยาสะกำพาที                            ดังตรีเพชรบาดในอุรา
๓.การเล่นคำโดยการใช้คำซ้ำ มีการใช้ภาษาที่สวยงาม เล่นคำพ้องเสียง เล่นสัมผัสพยัญชนะเพื่อให้เกิดความไพเราะ เช่น ตอนอิเหนาชมดง โดยนำชื่อนกกับชื่อไม้ที่เป็นชื่อพ้องกันมาโยงสู่การคร่ำครวญ เมื่ออ่านแล้วเกิดความไหเราะมากขึ้น
                                      ว่าพลางทางชมคณานก        โผนผกจับไม้อึงมี่
                          เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี                     เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
                          นางนวลจับนางนวลนอน                 เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
                          จากพรากจับจากจำนรรจา                เหมือนจากนางสการะวาตี
                          แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง                      เหมือนร้างห้องมาหยารัศมี
                          นกแก้วจับแก้วพาที                          เหมือนแก้วพี่ทั้งสามสั่งความมา
                          ตระเวนไพรร่อนร้องตะเวนไพร      เหมือนเวรใดให้นิราศเสน่หา
                          เค้าโมงจับโมงอยู่เอกา                      เหมือนพี่นับโมงมาเมื่อไกลนาง
                          คับแคจับแคสันโดษเดี่ยว                 เหมือนเปล่าเปลี่ยวคับใจในไพรกว้าง
                          ชมวิหคนกไม้ไปตามทาง                คะนึงนางพลางรีบโยธี

คุณค่าด้านความรู้และความคิด
๑)แสดงให้เห็นถึง ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมเช่น ความเชื่อเรื่องการทำนายโชคชะตาหรือโหราศาสตร์ดังตอนที่ท้าวกะหมังกุหนิงจะยกทัพไปตีเมืองดาหา ก็ให้โหรทำนายดวงชะตาของเขา
                            ครั้นเสด็จสั่งมหาเสนา                      จึงถามขุนหราทั้งสี่                                                                                                    เราจะยกพลไกรไปต่อดี                   พรุ่งนี้ดีร้ายประการใด

บัดนั้น พระโหราราชครูผู้ใหญ่
รับรสพจนารภูวไนยคลี่ดำรับขับไล่ไปมา
เทียบดูดวงชะตาพระทรงยศ กับโอรสถึงฆาตชันษา
ทั้งชั้นโชคโยคยามยาตรา พระเคราะห์ขัดฤกษ์พาสารพัน
จึงทูลว่าถ้ายกวันพรุ่งนี้ จะเสียชัยไพรีเป็นแม่นมั่น
งดอยู่อย่าเสด็จสักเจ็ดวัน ถ้าพ้นนั้นก็เห็นไม่เป็นไร
ขอพระองค์จงกำหนดงดยาตรา ฟังคำโหราหาฤกษ์ใหม่
อันการยุทธ์ยิงชิงชัย หนักหน่วงน้าพระทัยดูให้ดี 

                          แม้ตอนนี้อิเหนาจะยกทัพไปช่วยเมืองดาหา ก็ต้องพิจารณาฤกษ์ยามและมีการประกอบพิธีที่เรียกว่า ฟันไม้ข่มหนาม ดังความที่ว่า
พอได้ศุภฤกษ์ก็ลั่นฆ้อง                     ประโคมคึกกึกก้องท้องสนามประโรหิตฟันไม้ข่มนาม                 ทำตามตำราพิชัยยุทธ์
                      พิธีฟันไม้ข่มนาม เป็นพิธีที่จัดเพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ทหารโดยมีการตัดไม้ที่มีพยัญชนะต้นขึ้นชื่อศัตรู เช่นศัตรูชื่อว่า กะหมังกุหนิง ให้หาพืชที่ขึ้นด้วยตัว ก เช่น กล้วย กระถิน เป็นต้น แล้วฟันให้ขาดด้วยพระแสงศัตราวุธที่ได้รับพระราชทานติอหน้าพระพักตร์ เมื่อฟันแล้ว ผู้ฟันจะหันหน้าไปสู่พระราชวัง โดยไม่เหลียวหลังกลับมาดูเป็นอันขาด จากนั้นนำความขึ้นกราบบังคลทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าออกไปปราบศึกครั้งนี้มีชัยชนะแก่ข้าศึก ทั้งนี้ผุ้ที่ฟันจะเป็นพระมหากษัตริย์ก็ได้   
                       นอกจากนี้ยังมีพิธี เบิกโขลนทวาร” ซึ่งเป็นการประกอบพิธีกรรมตามตำราพราหมณ์ โดยทำเป็นประตูสะด้วยใบไม้ สองข้างประตูมีพราหมณ์หรือสงฆ์ นั่งหรือยืนสวดคาถาที่มีเนื้อหาเป็นมงคลพร้อมกับพรมน้ำมนต์ให้ทหารที่เดินลอดผ่านประตู
ทัพหน้าทัพหลวงทัพหลัง พร้อมพรั่งตั่งโห่อึงอุตม์
ทหารโบกธงทองกระบี่ครุฑ ฝรั่งจุดปืนใหญ่ให้สัญญา
ชีพ่อก็เบิกโขลนทวาร โอมอ่านอาคมคาถา
เสด็จทรงช้างที่นั่งหลังคา คลาเคลื่อนโยธาทุกหมวดกอง
๒)แสดงให้เห็นถึงสภาพการสงครามเมื่อครั้งอดีต แม้บทละครเรื่องอิเหนา จะมีเค้าเรื่องมาจากนิทานพื้นเมืองของชวา แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับธรรมเนียมของไทย อาทิการตั้งค่าย เมื่อมีสงครามในสมัยโบราณ   

                                            เมื่อนั้น                                       ท้าวกะหมังกุหนิงเป็นใหญ่
                                  เร่งรีบรี้พลสกลไกร                           มาใกล้ทิวทุ่งธานี
                                  เห็นและหานธารน้ำไหลหลั่ง       ร่มไทรใบบังสุริย์ศรี
                                  จึงดำรัสตรัสสั่งเสนี                          ให้ตั้งที่นาคนามตามตำรา

       การตั้งค่าย เมื่อมีศึกในสมัยโบราณ จะพิจารณาจากภูมิสถานหรือที่เรียกว่า ชัยภูมิ ว่าสอดคล้องกับการตั้งค่ายแบบใดที่มีในตำรา พิชัยสงคราม” ซึ่งเป็นเอกสารที่มีเนื้อความเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และวิธีการรบ อย่างที่ปรากฏในบทละครข้างต้น กล่าวถึง นาคนาม นั้น เป้นการตั้งค่ายในภูมิประเทศที่มีแม่น้ำหรือลำห้วยไหลผ่าน                                          
                  นอกจากนี้ยังมีการบรรยายบรรยากาศการเตรียมป้องกันเมืองมีข้าศึกเข้ามาประชิดในเวลามีสงคราม โดยเฉพาะเมืองที่มีขนาดเล็กหรือกำลังน้อย
 ข้อความข้างต้นเป็นการบรรยายบรรยากาศการป้องกันเมืองขนาดเล็กที่อยู่รอบเมืองหลวง โดยมีผู้รั้งหรือผู้รักษาการเมืองเป็นผู้ปกครอง
เมื่อเวลามีสงครามหรือข้าศึก เดินทัพผ่านเพื่อจะได้ตีเมืองหลวงนั้น เมืองเล็กเมืองน้อยหรือเมืองที่ตั้งอยู่ตามรายทางเหล่านี้หากมิได้รับการช่วยเหลือหรือเมืองหลวงยังส่งกำลังพลมาสนับสนุนให้ไม่ทันก็มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมป้องกันเมืองตามแต่กำลังความสามารถโดยการ ผ่อนครัว” หรืออพยพชาวบ้านที่อยู่ชานเมืองหรือนอกกำแพงเมืองเข้ามาไว้ในเมือง แล้วเกณฑ์ทหารและพลเรือนที่เป็นชายฉกรรจ์มาเข้าประจำการตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ โดยอาวุธที่มีก็แล้วแต่จะหาได้ในขณะนั้น และหากจับข้าศึกได้ก็ต้องส่งตัวไปยังเมืองหลวงเพื่อให้ทำการสอบสวนต่อไป
๓)ให้ข้อคิดคติเตือนใจ 
ที่ว่าลูกใครใครก็รักและตามใจลูกเกินไปบางครั้งความรักของพ่อแม่ก็อาจจะฆ่าลูกและฆ่าตนเองด้วย เช่น ท้าวกะหมังกุหนิง ดังนี้
ตรัสพลางย่างเยื้องยุรยาตร องอาจดังไกรสรสีห์
สองระตูตามเสด็จจรลี ไปที่วิหยาสะกำตาย
มาเห็นศพทอดทิ้งกลิ้งอยู่ พระพินิจพิศดูแล้วใจหาย
หนุ่มน้อยโสภาน่าเสียดาย ควรจะนับว่าชายโฉมยง
ทนต์แดงดังแสงทับทิม เพริศพริ้มเพรารับกับขนง
เกศาปลายงอนงามทรง เอวองค์สารพัดไม่ขัดตา
กระนี้หรือบิดามิพิศวาสจนพินาศด้วยโอรสา
กลอนข้างต้นเป็นบทบรรยายความคิดของอิเหนาที่มีต่อวิหยาสะกำซึ่งเป็นโอรสของท้าวกะหมังกุหนิง โดยอิเหนาเห็นว่าคงเป็นเพราะวิหยาสะกำนั้นรูปงาม จึงไม่น่าแปลกใจที่ท้าวกะหมังกุหนิงผู้เป็นพ่อจะรักใคร่เอ็นดูมาก จนสุดท้ายต้องมาตายเพราะความรักที่มีต่อลูกนั่นเอง
อิเหนาได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดแห่งบทละครรำ เนื่องด้วยสำนวนกลอนมีความไพเราะและเหมาะที่จะนำไปเล่นละคร แม้มีเค้าโครงมาจากนิทานพื้นเมืองชวา แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับธรรมเนียมสังคมไทยโดยไม่ขัดแย้งกับเนื้อเรื่องเดิม นอกจากนี้ผู้อ่านยังอาจแสวงหาความรู้เกี่ยวกับประเพณีไทยได้ ด้วยเหตุนี้บทละครเรื่องอิเหนาจึงเป็นวรรณคดีที่ควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น